top of page

ระบบนิเวศแนวปะการัง

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    แนวปะการัง เป็นแนวหินปูนใต้ทะเลในระดับน้ำตื้นที่แสงแดดส่องถึง หินปูนดังกล่าวเป็นผลมาจากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด นอกจากนี้ ยังมีสิ่งมีชีวิตอื่นๆ อีกหลายชนิดที่มีส่วนเสริมสร้างหินปูนพอกพูนสะสมในแนวปะการัง เช่น สาหร่ายหินปูน หอยที่มีเปลือกแข็ง  ทั้งปะการังเองและสิ่งมีชีวิตที่สร้างหินปูนได้ เมื่อตายไปแล้วจะคงเหลือซากหินปูนทับถมพอกพูนต่อไป    

  เนื่องจากแนวปะการังประกอบด้วยปะการังหลายชนิดและปะการังแต่ละชนิดมีลักษณะโครงสร้างแตกต่างกันไป ทำให้โครงสร้างของแนวปะการังมีลักษณะซับซ้อน เต็มไปด้วยซอกหลืบเหมาะสมต่อการดำรงชีวิตสิ่งมีชีวิตต่างๆ เช่น ปลาชนิดต่าง ๆ กุ้ง หอย ดาวทะเล ปลิงทะเล ฟองน้ำ ปะการังอ่อน กัลปังหา หนอนทะเล สาหร่ายทะเล เป็นต้น ทำให้แนวปะการังเป็นระบบนิเวศที่มีความซับซ้อนและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดในทะเล  

  ความอุดมสมบูรณ์ของแนวปะการังดึงดูดให้มีการใช้ประโยชน์จากแนวปะการังมากขึ้นทั้งโดยตรงและโดยทางอ้อม ทรัพยากรสัตว์น้ำนานาชนิดจากแนวปะการังถูกนำขึ้นมาใช้ประโยชน์และการท่องเที่ยวในแนวปะการังเป็นที่นิยมมากขึ้น  

 

  แนวปะการังในประเทศไทยทั้งหมดเป็นประเภทที่ก่อตัวริมฝั่ง (fringing reef) นี้ แบ่งตามลักษณะสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันเป็น 4 รูปแบบด้วยกัน คือ

 

แนวปะการังริมฝั่ง - เป็นแนวปะการังที่แท้จริง เพราะเป็นการสะสมตัวจนกลายเป็นแนวปะการัง พบได้ทั่วไปในแหล่งดำน้ำดูปะการังน้ำตื้นตามชายฝั่งและหมู่เกาะต่างๆ เป็นแนวปะการังชนิดที่ทรงคุณค่าที่สุด เพราะเป็นที่ที่สัตว์ทะเลจะใช้เวลาช่วงหนึ่งของชีวิตเข้ามาอาศัยเติบโตอยู่ในบริเวณนี้ ปะการังชนิดนี้ ในปัจจุบันจัดเป็นปะการังที่มีความเสียหายมากที่สุด

 

กลุ่มปะการังบนพื้นทราย - เป็นกลุ่มปะการังเล็กๆ ที่เกิดขึ้นบนพื้นทราย ยังมีการสะสมตัวกัน
ไม่มากนัก ส่วนมากเป็นปะการังสมองและเขากวาง

 

ปะการังบนโขดหิน - อยู่ในแนวน้ำลึก พบได้ในแหล่งดำน้ำทั่วไปในหมู่เกาะสิมิลัน เช่น เกาะเจ็ด (หินหัวกะโหลก) หรือ แฟนตาซี รีฟ เป็นต้น แนวปะการังชนิดนี้เปรียบดังโอเอซีสกลางทะเลทราย จึงเป็นที่รวมตัวของสัตว์ทะเลหลากหลาย โดยเฉพาะฝูงปลาต่างๆ ที่แวะเวียนเข้ามาหาอาหาร

 

แหล่งกัลปังหาและปะการังอ่อน - ไม่เชิงเป็นแนวปะการัง แต่มีศักยภาพในการเป็นที่หลบภัย
และที่อยู่อาศัยของปลาเล็กปลาน้อยไม่มากนัก จึงไม่ค่อยมีคุณค่าเท่าใดนักในระบบนิเวศ  แต่กลับทรงคุณค่าอย่างยิ่งในแง่การท่องเที่ยว เพราะปะการังอ่อนและกัลปังหามีความสวยงามมาก และเป็นจุดสนใจอย่างยิ่งของบรรดานักดำน้ำและช่างภาพใต้ทะเล

 

แนวปะการังก่อตัวขึ้นมาได้จากการเจริญเติบโตของปะการังหลายๆ ชนิด โดยธรรมชาติแล้ว ตัวอ่อนปะการังในระยะแรกล่องลอยอยู่ในมวลน้ำ ต่อมาจะลงยึดเกาะบนพื้นแข็ง เช่นตามพื้นหินติดชายฝั่งและบนซากหินปะการัง ปะการังวัยอ่อนนั้นจะค่อยๆ เจริญเติบโตมีขนาดใหญ่ขึ้น บอกจากนี้ปะการังบางส่วนที่แตกหักจากขบวนการต่างๆ เช่น ถูกหอยหรือสัตว์อื่นๆ เจาะไชหรือถูกคลื่นซัด ปะการังส่วนที่แตกหักนั้นก็จะค่อยๆ กระจายขยายออกไปในทะเล และยังคงเจริญเติบโตต่อไปได้หาก ไม่ถูกทรายกลบ แต่บางส่วนอาจจะตายไปได้ อย่างไรก็ตามซากหินปูนที่เหลือก็ยังคง

เป็นฐานแข็งสำหรับให้ตัวอ่อนปะการังตัวใหม่เข้ามายึดเกาะเพื่อเจริญเติบโตต่อไป

 

ปัจจัยสิ่งแวดล้อมในระบบนิเวศแนวปะการัง มีหลายด้าน ประกอบด้วย

 

  แสง - แนวปะการังทั่วไปพบอยู่ในบริเวณน้ำตื้นที่แสงส่องถึงหรือในที่ที่มีตะกอนหรือแพลงก์ตอนในปริมาณที่แสงสามารถส่องถึงเนื่องจากสาหร่ายซูแซนเทลลี่ (zooxanthellae) ที่อยู่ในเนื้อเยื้อปะการังต้องการแสงในการสังเคราะห์แสง ซึ่งสาหร่ายซูแซนเทลลี่นั้น คือ สาหร่ายเซลล์เดียวในสกุล Symbiodinium spp. มีสีน้ำตาลอมเหลือง อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับปะการัง และเป็นแหล่งพลังงานหลักของปะการัง (มากกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ของพลังงานที่ปะการังได้รับ) สาหร่ายซูแซนเทลลี่จะใช้ของเสียที่เกิดจากปะการัง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหายใจ และธาตุอาหารต่างๆ จากกระบวนการเมตาบอลิซึมมาใช้ใน
การสังเคราะห์แสงที่ได้ผลผลิตเป็นออกซิเจนและสารอาหารส่งกลับให้ปะการังแต่ปะการังบางประเภทสามารถอยู่ในน้ำลึกได้ เนื่องจากไม่มีสาหร่ายซูแซนเทลลี่อยู่ในเนื้อเยื่อ ปะการังกลุ่มนี้มีการเจริญเติบโตช้าและไม่สามารถพัฒนาเป็นแนวปะการัง ดังนั้นจึงพบแนวปะการังตามแนวชายฝั่งรอบเกาะหรือภูเขาใต้ทะเล และไม่พบแนวปะการังในที่ที่ลึกกว่า 50 เมตร

 

  อุณหภูมิ - โดยปกติปะการังสามารถดำรงชีวิตได้ในที่ที่มีอุณหภูมิน้ำทะเลอยู่ในช่วง 20-30 องศาเซลเซียส แต่หากอุณหภูมิน้ำทะเลมีการเปลี่ยนแปลงจากปกติเช่น อุณหภูมิสูงกว่าอุณหภูมิสูงสุดที่ปะการังสามารถอยู่ได้ตามปกติ 1-2 องศาเซลเซียสติดต่อกันเป็นเวลานาน ปะการังจะขับสาหร่ายซูแซนเทลลี่ออกจากเซลล์ และเนื่องจากรงควัตถุของสาหร่ายชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปะการังมีสีต่างๆ ดังนั้นเมื่อไม่มีสาหร่ายจึงสามารถมองผ่านเนื้อเยื้อใสของปะการังลงไปจนเห็นสีขาวของโครงสร้างหินปูน ซึ้งเรียกปรากฏการณ์นี้ว่าปะการังฟอกขาว

 

  สาหร่ายซูแซนเทลลี่ (zooxanthellae) คือสาหร่ายเซลล์เดียวในสกุล Symbiodinium มีสีน้ำตาลอมเหลืองที่อาศัยอยู่ในเนื้อเยื่อของปะการังแบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันกับปะการังและเป็นแหล่งพลังงานหลักของปะการัง (มากกว่า 80 เปอร์เซนต์ ของพลังงานที่ปะการังได้รับ) โดยสาหร่ายซูแซนเทลลี่จะใช้ของเสียที่เกิดจากปะการัง เช่น คาร์บอนไดออกไซด์จากกระบวนการหายใจ และธาตุอาหารต่างๆ จากกระบวนการเมตาบอลิซึมมาใช้ในการสังเคราะห์แสงที่ได้ผลผลิตเป็นออกซิเจนและสารอาหารส่งกลับให้ปะการัง

 

  ความเค็ม - ปะการังต้องการความเค็มที่ค่อนข้างคงที่ในช่วง 30-36 ดังนั้น บริเวณปากแม่น้ำหรือในพื้นที่ที่มีน้ำจืดไหลลงมามากจึงไม่พบแนวปะการัง หรืออาจมีปะการังบางชนิดที่ทนน้ำกร่อยขึ้นกระจายเป็นหย่อมๆ

 

  ตะกอน - ตะกอนที่มีขนาดเล็กคล้ายดินโคลน (silt, clay) เป็นอันตรายต่อปะการังมาก เพราะนอกจากจะลดการส่องผ่านของแสงแล้ว ตะกอนเหล่านั้นอาจปกคลุมอยู่บนก้อนปะการังซึ่งโดยทั่วไปแล้ว ปะการังสามารถขับเมือกออกมาเพื่อจับกับตะกอนให้ไหลหลุดออกไปได้ และในบริเวณที่มีคลื่นหรือกระแสน้ำไหลเวียนดีตะกอนจะถูกพัดพาออกไป ปะการังจึงสามารถอยู่ได้ แต่ในบริเวณที่มีการตกของตะกอนมากเกินไปจนปะการังไม่สามารถกำจัดออกไปได้ทัน
ปะการังจะเสื่อมโทรมลงและตายในที่สุด

 

  พื้นที่ลงเกาะ - ตัวอ่อนของปะการังส่วนใหญ่จะสร้างฐานหินปูนยึดติดกับพื้นที่ลงเกาะก่อนที่จะเจริญเติบโตขยายขนาดโคโลนีต่อไป พื้นที่ที่ปะการังสามารถลงเกาะและสามารถเจริญเติบโตได้ดีควรเป็นพื้นที่แข็งที่มีความมั่นคง ไม่ถูกกระแสคลื่นลมพัดพาไปโดยง่าย รวมทั้งไม่มีสิ่งมีชีวิตที่จะมาแก่งแย่งพื้นที่กับปะการังขึ้นคลุมอยู่ก่อนแล้ว เช่น สาหร่ายขนาดใหญ่ เพรียงหิน ฟองน้ำ พรมทะเล (zoanthids) พื้นที่ที่ปะการังสามารถลงเกาะได้ดีได้แก่ ซากแนวปะการังเก่า ก้อนหินขนาดใหญ่ แท่งเหล็ก แท่งคอนกรีต อิฐบล็อกซีเมนต์ ที่จมอยู่ใต้น้ำระยะหนึ่ง เป็นต้น

 

bottom of page