top of page

 อิทธิพลของปลากินพืช

 

 

 

    เราเข้าใจกันมานานแล้วว่าปลากินพืชมีบทบาทสำคัญในการสร้างสมดุลให้กับแนวปะการัง แต่คงจะไม่มีผลการศึกษาครั้งไหนที่ชัดเจนเท่ากับการทดลองของคณะนักนิเวศวิทยาทางทะเลแห่งมหาวิทยาลัยเจมส์คุ๊ก ประเทศออสเตร
เลีย นำโดย Terry Hughes และ David Bellwood โดยใช้แนวปะการังแห่ง Great Barrier Reef เป็นห้องทดลอง

 

  ย้อนกลับไปเมื่อปี 1998 เกิดปรากฎการณ์ปะการังฟอกขาวครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ ปะการังแข็งทั่วโลกเสียหายและล้มตายลงเป็นจำนวนมาก สองนักวิทยาศาสตร์และคณะจึงตัดสินใจใช้โอกาสนั้นทำการทดลองเพื่อพิสูจน์
บทบาทของปลากินพืชต่อการฟื้นตัวของปะการัง โดยทำการสร้างกรงขนาด 5x5 เมตรจำนวน 12 กรง ครอบแนวปะการัง (ภาพ A) โดยแบ่งการทดลองออกเป็นสามแบบคือกรงที่มีตาข่ายขึงโดยรอบ กรงที่มีตาข่ายคลุมแค่ครึ่งเดียว และกรงแบบเปิด จริงๆก็คือเป็นการจำลองสถานการณ์เปรียบเทียบระหว่าง ระบบนิเวศแบบที่มีปลาขนาดกลาง
และขนาดใหญ่กับแบบที่ไม่มี 

 

  การทดลองดังกล่าวใช้เวลาถึง 2 ปีครึ่งโดยนักวิจัยได้ทำการเก็บข้อมูลอย่างละเอียดทุกอย่างโดยเฉพาะอัตราการ
ลงเกาะของตัวอ่อนปะการัง ชนิดของปลาและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศทั้งหมดมีการติดตั้ง

กล้องวีดีโอเพื่อบันทึกชนิดและการเปลี่ยนแปลงปริมาณด้วย

  30 เดือนผ่านไปผลปรากฎว่าพื้นที่ภายในกรงที่ไม่มีปลากินพืชขนาดกลางหรือขนาดใหญ่เล็ดรอดเข้าไปได้เลย
กลายสภาพเป็นระบบนิเวศที่มีสาหร่ายขึ้นคลุมไปทั่ว โดยมีสาหร่ายยักษ์ Sargassum ที่สูงถึง 3 เมตรขึ้นคลุมจแทบ

ไม่เหลือสภาพแนวปะการังอยู่เลย (ภาพ B)  บางกรงมีสาหร่ายขึ้นคลุมถึงร้อยละ90 ในขณะที่กรงที่ปิดบางส่วนและกรงที่เปิดซึ่งยังมีปลากินพืชเข้ามาหากินตามปกติมีสาหร่ายปกคลุมเพียง 7-10% เท่านั้น

  ในขณะเดียวกันจำนวนตัวอ่อนปะการังในกรงเปิดและปิดบางส่วนมีจำนวนสูงถึง 100-120ตัวต่อกรงและมีปะการังปกคลุมเพิ่มขึ้นถึง 70-80% เทียบกับกรงที่ไม่มีปลากินพืชซึ่งมีตัวอ่อนปะการังลงเกาะน้อยกว่าถึงสองในสาม (ไม่ถึง40 ตัว)  นอกจากนี้ปะการังที่เหลือรอดจากปรากฎการณ์ฟอกขาวในกรงปิดยังทะยอยล้มตายลงไปเรื่อยๆ(ภาพ D) ในขณะที่สาหร่ายเติบโตและเริ่มเข้ามาแทนที่ (ภาพ C) จากระบบนิเวศที่หลากหลาย มีโครงสร้างที่ซับซ้อนของแนวปะการังและปลานานาชนิด กลายเป็นระบบนิเวศที่เหลือเพียงสาหร่ายใบเมือกกับปลาตัวเล็กๆ การเปลี่ยนสภาพจากระบบนิเวศหนึ่งไปเป็นอีกแบบหนึ่งอย่างสมบูรณ์เช่นนี้นักนิเวศวิทยาเรียกกันว่า Phase shift ซึ่งพบเห็นในธรรมชาติเมื่อสภาพแวดล้อมโดยรวมเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงไม่ว่าจะเป็นจากมลภาวะ การจับปลาเกินขนาด หรือการรบกวนรูปแบบอื่นๆ

 

  การทดลองดังกล่าวจำลองสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดขึ้นกับระบบนิเวศปะการังหลายๆแห่งทั่วโลก โดยเฉพาะในเอเชียและคาริเบียน เมื่อปลากินพืชขนาดกลางและขนาดใหญ่ถูกจับออกจากระบบไปจนหมด สมดุลทางระบบนิเวศก็ปั่นป่วนและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว

  โชคดีที่การทดลองนี้จบลงด้วยดี เพราะหลังจากเปิดกรงให้ปลากินพืชขนาดกลางและขนาดใหญ่กลับคืนสู่ระบบ พวกมันก็ทำหน้าที่กัดกินสาหร่ายอย่างไม่ลดละ ภายในเวลาแค่สองอาทิตย์ สาหร่ายปกคลุมก็ลดปริมาณลงไปกว่า 2 ใน 3 และหมดไปอย่างสิ้นเชิงภายในเดือนเดียว แล้วดงสาหร่ายก็กลับกลายสภาพมาเป็นระบบนิเวศปะการังอีกครั้ง 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

A

B

C

D

bottom of page