top of page

 

 รู้จักกับปลานกแก้ว

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

     ในบรรดาปลาสวยงามที่สร้างสีสันให้กับโลกใต้ทะเล ปลานกแก้ว (Parrotfishes) นับเป็นปลาสวยงามที่โดดเด่นอีกกลุ่มหนึ่ง เพราะไม่ว่าจะว่ายน้ำผ่านไปทางไหน สีสันที่สดใสเรียวเกล็ดที่งดงามเป็นระเบียบก็จะโดดเด่นสะดุดตา ทำให้ปลานกแก้วนับเป็นปลารูปทรงสวยงามที่มีขนาดค่อนข้างใหญ่ในบรรดาปลาสวยงามด้วยกัน

 

ปลานกแก้ว (อังกฤษ: Parrotfish) เป็นปลาทะเลกระดูกแข็ง อยู่ในวงศ์ Scaridae  เป็นปลาที่มีขนาดโตเต็มที่ประมาณ 30-70 เซนติเมตร มีลักษณะทั่วไปคล้ายคลึงกับปลาในวงศ์ปลานกขุนทอง (Labridae) อาศัยอยู่ตามแนวปะการังเขตร้อนและเขตอบอุ่นในน่านน้ำไทย พบได้ในฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามัน พบมากกว่า 20 ชนิด แต่เมื่อนักดำน้ำพบเห็นก็สามารถจะแยกแยะออกได้ทันทีว่าเป็นปลานกแก้ว เพราะรูปร่างที่เป็นเอกลักษณ์ โดยเฉพาะบริเวณปากที่ปลาตระกูลนี้จะมีฟันที่แข็งแรงติดกันเป็นแผงติดกันเป็นพืดยื่นออกมานอกเรียวปากทั้งด้านล่างและด้านบนลักษณะคล้ายเป็นจะงอยปากของนกแก้ว อันเป็นที่มาของชื่อปลานกแก้วนั่นเอง ซึ่งนอกจากปากจะมีลักษณะเป็นปากนกแก้วแล้ว สีสันบนลำตัวของมันยังสดใสสวยงามคล้ายกับสีสันของนกแก้วอีกด้วย

 

ปลานกแก้วเป็นปลาที่มีสีสันสวยงาม โดยปลาตัวผู้จะมีสีสันสวยงามปลาตัวเมีย ลำตัวรียาว ส่วนใหญ่มีครีบหางแบบเว้าโดยขอบบนและขอบล่างของครีบหางมักยื่นยาวออก มีโครงสร้างของปากและฟันอันแข็งแรงให้เหมาะสมกับการขูดกัดแทะกินสาหร่ายที่เคลือบอยู่บนโขดหินหรือโขดปะการัง รวมทั้งการขูดกินตัวปะการังขนาดเล็กจากปะการังโครงสร้างแข็งทั้งหลาย โดยแผงฟันที่มีแถวบนสองแถวแถวล่างสองแถวจะสามารถขุดหรือแทะขบผิวหน้าของปะการังได้ ปลานกแก้วจะมีอวัยวะภายในสำหรับแยกแยะตัวปะการังกับฝุ่นผงที่เป็นโครงสร้างหินปูน เพื่อขับถ่ายออกมาคืนสู่ท้องทะเล จึงสามารถจะพบเห็นปลานกแก้วว่ายน้ำกินไป ถ่ายฝุ่นผงไปเป็นระยะๆ

 ปลานกแก้วนั้นยังมีพฤติกรรมที่เป็นเอกลักษณ์อีกอย่างหนึ่งก็คือ เมื่อนอนปลานกแก้วจะนอนตามซอกหินแล้วปล่อยเมือกออกมาห่อหุ้มร่างกายเพื่อป้องกันอันตรายจากพวกสัตว์ทะเลต่าง ๆ เช่น พวกหนอนพยาธิหรือปรสิตที่จะมาทำร้ายหรือมารบกวน

 

 แม้ปลานกแก้วจะเป็นปลาสวยงาม แต่ก็นับว่ามันโชคร้ายกว่าปลาสวยงามชนิดอื่นๆ เช่นปลาผีเสื้อ ปลาโนรี หรือปลาในกลุ่มปลาสินสมุทร เพราะปลาสวยงามเหล่านั้นคนไม่นิยมกัน จะมีบ้างก็ถูกจับไปเลี้ยงเป็นปลาตู้ แต่สำหรับปลานกแก้วที่รูปทรงของลำตัวก็คล้ายกับปลาที่ผู้คนบริโภคทั่วไปแถมเนื้อยังขาวนุ่มและมีรสชาติดี มันจึงมักถูกจับขึ้นมาเป็นอาหารของผู้คน เพียงแต่เราไม่ค่อยพบเห็นตามตลาดขายปลากันมากนัก เพราะปลานกแก้วนั้นเป็นปลาที่กินสาหร่ายและกินซากปะการังเป็นอาหาร จึงไม่ยอมกินเบ็ด และเป็นปลาที่ไม่ค่อยชอบมุดเข้าลอบดักปลาของชาวประมงเหมือนปลาชนิดอื่นๆ อีกทั้งเป็นปลาที่หากินอยู่กับแนวปะการังมันจึงมักไม่ติดอวน เพราะอวนไม่สามารถจะ
เข้าไปลากได้ถึงแนวหินหรือโขดปะการัง วิธีที่ชาวเลสามารถจะล่าปลานกแก้วขึ้นมาขายได้นั้น ก็มักจะใช้การดำน้ำลงไปยิงด้วยฉมวก หรือการดำลงไปใช้ยาไซยาไนด์พ่นให้ปลามึนเมาไม่สามารถจะว่ายหนีไปไหนได้ แล้วจับใส่ถุงตาข่ายขึ้นมา ซึ่งใครที่ไปซื้อปลานกแก้วมากินก็คงต้องเสี่ยงกับไซยาไนด์ที่ตกค้างอยู่ตามเหงือกและเครื่องในของปลา

 

  สมัยก่อนคนไทยไม่นิยมรับประทานปลาชนิดนี้ หากติดอวนชาวประมงขึ้นมาส่วนใหญ่ก็จะโยนกลับคืนสู่ท้องทะเล แต่หลังๆ เริ่มมีคนอยากลิ้มลองมันมากขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนและไต้หวันที่รับประทานกันอยู่แล้ว อีกส่วนมาจากคำร่ำลือเรื่องรสชาติซึ่งผูกติดมากับความนิยมของแปลก ด้วยสีสันสดใสสะดุดตาเมื่อถูกนำมาวางรวมกับปลาอื่นๆ ทำให้อุปสงค์-อุปทานเพิ่มเป็นเงาตามตัว คราวนี้นอกจากปลานกแก้วที่ติดอวนจะไม่มีโอกาสกลับบ้านในแนวปะการังแล้ว ยังมีการจับพวกมันมาขายในเชิงธุรกิจด้วย ซึ่งดูเผินๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร แต่ถ้ารู้จักธรรมชาติและคุณูปการของปลานกแก้วแล้ว ต้องบอกว่านี่คือภัยคุกคามทะเลไทยรูปแบบใหม่ก็ว่าได้ 

bottom of page